ข้อมูลพื้นฐาน | การจัดการองค์ความรู้ KM หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แหล่งความรู้

การอนุรักษ์น้ำด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

การอนุรักษ์น้ำด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

1.การป้องกันและแก้ไขการรั่วไหล
การรั่วไหลและการสูญเสียเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการจัดการน้ำ ทางด้านการใช้น้ำในครัวเรือน ธุรกิจและอุตสาหกรรม การสูญเสียรั่วไหลที่พบมากที่สุด ได้แก่ จุดจ่ายน้ำหรือหัวก๊อกจ่ายน้ำ บริเวณเส้นทางส่งน้ำที่ข้อต่อ ข้องอ ถังเก็บน้ำของสุขภัณฑ์ ในการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี นับแต่การสังเกตรอยซึมของน้ำ กำลังของน้ำที่ลดลง เสียงน้ำที่หยดไหลริน
สาเหตุของการรั่วไหล อาจเกิดจากการติดตั้ง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน การเสื่อมของอุปกรณ์ส่งและจ่ายน้ำ การเสื่อมของยางที่ป้องกันการรั่วซึม การปิดไม่สนิมจากการใช้งาน รวมทั้งการสูญเสีย จากการเปิดก๊อกน้ำในขณะที่น้ำไม่ไหลและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ปิด ฯลฯ
จากสาเหตุที่แตกต่างกันเองการรั่วไหลของน้ำข้างต้น การป้องกันมิให้มีการรั่วไหลของน้ำเลย จึงอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน แต่การป้องกันให้มีการรั่วไหลน้อยที่สุดอาจทำได้โดยการจัดให้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่สิ้นเปลือง
การสูญเสียน้ำ นอกจากจะเกิดจากการสูญเสียรั่วไหลโดยไม่ตั้งใจแล้ว ยังเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้น้ำที่มากเกินความจำเป็นในการทำกิจกรรมต่างๆ พฤติกรรมการใช้น้ำเกิดจากความเข้าใจและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าการสูญเสียในช่วงเวลาสั้นๆ จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือการไหลของน้ำในช่วงสั้นๆ จะเกิดการเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากมาย เหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อดังกล่าวคือ ค่าน้ำถูก หรือผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้ชำระค่าน้ำเอง เช่น กรณีการใช้น้ำในหน่วยงาน สถานบริการ หรือในการผลิตของอุตสาหกรรม การขาดการเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการใช้น้ำที่มีการสูญเสีย กับผลเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรและระบบนิเวศ ทำให้มีการใช้โดยไม่ระวัง
พฤติกรรมการใช้น้ำที่มีการสูญเสียน้ำมาก ได้แก่
• การแปรงฟัน ที่ปล่อยให้มีการไหลของน้ำตลอดเวลา (27 ลิตร)
• การล้างหน้าที่เปิดน้ำอย่างต่อเนื่อง (18 ลิตร)
• การโกนหนวด โดยการเปิดน้ำไหลตลอดเวลา (18 ลิตร)
• การล้างจาน โดยปล่อยน้ำให้ไหลล้นอย่างต่อเนื่อง (90 ลิตร)
• การซักผ้า ที่ปล่อยให้มีการไหลของน้ำตลอดเวลา (180 ลิตร)
• การอาบน้ำจากหัวจ่ายน้ำที่เปิดทิ้งไว้ (90 ลิตร)
• การล้างรถจากปลายสายยางที่จ่ายน้ำโดยไม่ปิด (5 ลิตร)
• การรดน้ำสนามหญ้าด้วยลายยางปลายเปิด (5 ลิตร)

3.การเลือกใช้เทคโนโลยีประหยัดน้ำ
     สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้มีการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นพฤติกรรมการใช้น้ำที่ยากต่อการแก้ไข คือ การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้สายยางที่ไม่สามารถควบคุมการไหลของน้ำในการรดน้ำต้นไม้ ทำให้ควบคุมการปิด-เปิดลำบาก หรือการใช้ก๊อกน้ำที่ไม่มี่อุปกรณ์เติมอากาศทำให้ต้องใช้น้ำในการล้างมือมากกว่าปกติ หรือการใช้ก็อกน้ำหัวเกลียวที่ยากต่อการปิด-เปิด ฯลฯ ทำให้มีการใช้น้ำในปริมาณมาก ดังนั้น การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยี พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการลดการรั่วไหลของน้ำ

การอนุรักษ์น้ำด้วยการลดการปนเปื้อนของน้ำ
       การใช้น้ำในภาวะการขาดแคลนน้ำ ผู้ใช้น้ำนอกจากจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการลดปริมาณการใช้น้ำด้วยการใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องป้องกันมิให้น้ำใช้มีการปนเปื้อนโดยไม่จำเป็น โดยการลดและหลีกเหลี่ยงการใช้น้ำเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูลทุกชนิดทั้งภายในและภายนอกพื้นที่การใช้น้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้น้ำได้มีการฟื้นตัว และทำความสะอาดด้วยวิธีการทางธรรมชาติได้อย่างดีก่อนที่จะถูกผู้ใช้น้ำรายอื่นนำไปใช้อีก การลดการปนเปื้อนอาจจะทำได้อีกหลายขั้นตอน ด้วยการจัดให้มีการแยกไขมันออกจากน้ำ การแยกตะกอนหรือสิ่งเจือปน การตกตะกอนเพื่อลดปริมาณสารแขวนลอย การลดความเป็นกรดหรือด่าง เป็นต้น เพื่อให้น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ก่อนถูกส่งเข้าระบบบำบัดที่เหมาะสมต่อไป

การอนุรักษ์ด้วยการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน 
น้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์และมีการปนเปื้อน จะต้องมีการบำบัดให้สะอาดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อมิให้ผู้ใช้น้ำรายอื่นต้องเดือดร้อนจากการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นน้ำ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการผลิตและจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม

ถังดักไขมัน/ถังสำเร็จรูป
ปัจจุบัน การติดตั้งบ่อดักไขมันในอาคารบ้านพัก หอพัก ร้านอาคาร ภัตตาคาร และสถานประกอบการอื่น ๆ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากจะสามารถลดการปนเปื้อนและช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำ ยัง เป็นการป้องกันการอุดตันของท่อระบายน้ำอีกด้วย ในปัจจุบันถังดักไขมันสำเร็จรูปมีจำหน่ายตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป  โดย หลักการทำงานของถังดักไขมันคือ แยกไขมันไม่ไห้ไหลปนไปกับน้ำทิ้ง ถังดักไขมันมักจะได้รับการออกแบบให้มีหน้าที่เป็นถังดักเศษอาหารในตัว โดยถังจะแบ่งได้เป็นสองส่วนซึ่งเชื่อมต่อกัน ส่วนแรกจะมีตะแกรงดักขยะ ซึ่งใช้ในการกรองเศษอาหารขนาดใหญ่ ตะแกรงนี้จะสามารถแยกออกมาได้ เพื่อเทเศษอาหารทิ้งและทำความสะอาดได้ง่าย น้ำที่ไหลผ่านตะแกรงก็จะลอดแผ่นกั้นเข้าสู่ส่วนที่สอง ซึ่งจะทำหน้าที่ดักไขมัน ด้วยการขังน้ำเสียไว้สักระยะหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ไขมันและน้ำมันที่ปะปนอยู่กับน้ำลอยขึ้นมาบนผิวหน้า เมื่อสะสมจนมีปริมาณมากก็จะสามารถตักออกไปทิ้งได้ ส่วนน้ำที่ถูกแยกเอาไขมันออกแล้ว ก็จะไหลออกทางช่องระบายน้ำออก ซึ่งจมอยู่ใต้ระดับไขมัน ถังดักไขมันแบบนี้สามารถลดปริมาณไขมันในน้ำเสียให้น้อยลงได้ถึง 5 เท่า

บำบัดด้วยพืชน้ำ
     เป็นระบบบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ โดยอาศัยพืชน้ำ จุลินทรีย์ และดินเป็นตัวบำบัด มีกลไก ในการบำบัดน้ำเสีย ส่วนใหญ่จะเกิดที่ชั้นดินส่วนพื้นบึง พืชน้ำเหล่านี้ดูดซับเอาธาตุอาหารและแร่ธาตุเหล่านี้ไปใช้ในการเจริญเติบโตของพืชน้ำเอง เพราะฉะนั้น พืชน้ำแทบทุกชนิดจึงมีคุณสมบัติที่ดีในการบำบัด แต่พืชแต่ละชนิดมีความเหมาะสมไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากคุณสมบัติในการดูดซับและการนำพืชนั้นไปใช้ประโยชน์หลังจากการบำบัดแล้ว (ที่นิยมส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ธูปฤาษี จอก แหน และ ผักตบชวา และพืชอื่นที่เก็บออกได้ง่ายเพราะถ้าไม่เก็บออกอาจทำให้น้ำเน่าเสียต่อไปเนื่องจากพืชน้ำเหล่านี้เน่าเสียได้) จะใช้พืชพื้นเมืองที่มีอยู่แล้วในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสีย น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งที่อาจซึมลงดินเพื่อเพิ่มน้ำในดิน หรือระบายลงสู่แหล่งน้ำใกล้เคียงได้ อีกทั้งในการดูแลรักษาระบบนี้ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้นระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำนี้ จึงเป็นที่นิยมและได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

การใช้น้ำในห้องน้ำ

สุขภัณฑ์
            กดชักโครกสุขภัณฑ์รุ่นธรรมดา 1 ครั้งจะสิ้นเปลืองน้ำตั้งแต่ 15-22 ลิตร แล้วแต่ชนิดและรุ่นของชักโครก ในขณะที่สุขภัณฑ์ชนิดที่ใช้น้ำราดจะใช้น้ำเพียง 2 ลิตรและสุขภัณฑ์รุนประหยัดน้ำจะใช้น้ำเพียง 4-6 ลิตรเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากมีการรั่วไหลของน้ำในถังพักน้ำของชักโครก จะทำให้สูญเสียน้ำปริมาณมาก (ใน 1 ปีสูญเสียประมาณ 100 ลบ.มต่อครัวเรือน)ดังนั้นผู้ใช้จึงควร
1. หลีกเลี่ยงการใช้สุขภัณฑ์เป็นที่ทิ้งขยะหรือของเสีย
2. กดชักโครกหลังจากการใช้แล้วเท่านั้น
3. ปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำความสะอาดโถปัสสาวะจะน้อยกว่าการใช้น้ำในโถชักโครก 3 เท่า ดังนั้น ควรแยกโถปัสสาวะกับชักโครกเพื่อลดการใช้น้ำ
4. ใช้สุขภัณฑ์ชนิดน้ำราดจะปะหยัดน้ำได้มากกว่า
5. ใช้สุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำซึ่งจะสิ้นเปลืองน้ำเพียง 4-6 ลิตรต่อการกด 1 ครั้ง

อาบน้ำ
อาบน้ำด้วยฝักบัว 1 ครั้ง ใช้น้ำเฉลี่ย 20 ลิตรต่อคน แต่ถ้าอาบน้ำในอ่างจะใช้น้ำครั้งละ 110 ลิตร นอกจากนี้ ในรายที่อาบน้ำอุ่นการอาบน้ำในอ่างจะสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าการอาบด้วยฝักบัวเช่นเดียวกัน

การอาบน้ำอย่างรู้คุณค่าของน้ำ
1. ปิดฝักบัวหรือก๊อกน้ำทุกครั้งขณะที่ฟอกสบู่ ถูตัวหรือสระผม มิฉะนั้นแล้วจะสิ้นเปลืองน้ำประมาณ 90 ลิตรต่อการอาบน้ำ 1 ครั้ง
2. แต่ละนาทีของการอาบน้ำด้วยฝักบัวจะใช้น้ำ 9 ลิตร ดังนั้นควรใช้เวลาในการอาบน้ำให้สิ้นลงเพื่อช่วยประหยัดน้ำ
3. ใช้ภาชนะรองรับน้ำเย็นที่มักถูกเปิดทิ้ง 10-20 วินาที ก่อนที่น้ำจะอุ่น (กรณีใช้เครื่องทำน้ำร้อน)
4. การใช้ฝักบัวรุ่นประหยัดน้ำจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการอาบน้ำได้มากถึง ร้อยละ 50 และลดการใช้พลังงานลงด้วย
5. การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการไหลของน้ำมิให้มากกว่า 5 ลิตรต่อนาที  จะช่วยลดการใช้น้ำในการอาบน้ำด้วยฝักบัวได้มาก

ก๊อกน้ำ
1. ตรวจหารอยรั่วของก๊อกน้ำหรือฝักบัว และซ่อมทันที
2. แปรงฟันโดยใช้แก้วรองน้ำจะใช้น้ำเพียง 1 ลิตร เท่านั้น
3. โกนหนวดโดยเปิดน้ำเฉพาะตอนล้างและฟอกสบู่จะสิ้นเปลืองน้ำเพียง 1-2 ลิตร
4. น้ำที่หยดจากก๊อกน้ำ 2 หยดต่อ 1 วินาที รวมแล้วจะเท่ากับน้ำ 20 ลบ.ม. ใน 1 ปี
5. โดยเฉลี่ยก๊อกน้ำจะมีอัตราการไหล 9 ลิตรต่อนาที การเปิดก๊อกน้ำขณะที่ไม่มีการใช้น้ำ เช่น การ แปรงฟัน ฟอกสบู่ หรือปล่อยให้น้ำล้นอ่างหรือถังน้ำ หมายถึงการสูญเสียน้ำ 9 ลิตรต่อนาที
6. การปิดก๊อกน้ำไม่สนิทหรือก๊อกน้ำมีข้อต่อหลวง จนมีน้ำหยดตลอดเวลา จะทำให้มีการสูญเสียน้ำถึง วันละ 60 ลิตร

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการใช้น้ำในครัว
1. การล้างผักโดยใช้ภาชนะรองน้ำจะใช้น้ำประมาณ 5-10 ลิตร ในขณะที่การล้างโดยเปิดให้ก๊อกน้ำ ไหลตลอดเวลา 5 นาที จะสิ้นเปลืองน้ำ 45 ลิตร
2. การล้างจาน ถ้วยชาม ถ้าล้างโดยใช้ภาชนะรองน้ำจะใช้น้ำ 50 ลิตร แต่ถ้าล้างโดยเปิดก๊อกน้ำตลอด จะสิ้นเปลืองน้ำถึง 135 ลิตร

การซักผ้า

1. ซักผ้าด้วยเครื่องใช้น้ำเฉลี่ย 100 ลิตรต่อการซัก 1 ครั้ง
2. ซักผ้าปริมาณเท่ากันด้วยมือ (หรือใช้กะละมังรองน้ำ) จะใช้น้ำครึ่งหนึ่งของการซักด้วยเครื่อง
3. เครื่องซักผ้าแบบที่มีแกนหมุนแนวนอน (ส่วนใหญ่เป็นแบบฝาเปิดด้านหน้า) จะใช้น้ำในการซัก (95-113 ลิตร)น้อยกว่า
4. เครื่องซักผ้าแกนหมุนแนวตั้ง (ส่วนใหญ่เป็นแบบฝาเปิดด้านบน ใช้น้ำ132-208 ลิตร) บางรุ่นใช้น้ำเพียง 1ใน 3 ส่วนของเครื่องซักแบบแกนหมุนแนวตั้ง

เคล็ดลับการซักผ้าแบบประหยัดน้ำ
1. หลีกเลี่ยงการซักผ้าครั้งละน้อยๆ
2. แช่ผ้าพร้อมผลซักฝ้าก่อนทำการซักประมาณ 20-30นาที
3. ซักผ้าในปริมาณที่สอดคล้องกับขีดความสามารถของเครื่อง
4. ใช้เครื่องซักผ้าที่มีแกนหมุนแนวนอนแทนเครื่องที่มีแกนหมุนแนวตั้ง
5. เลือกเครื่องซักผ้าที่มีระบบการซักด้วยน้ำเย็น
6. ใช้น้ำจากการล้างพื้นผิวอาคาร รดน้ำต้นไม้หรือสนามหญ้าจะช่วยประหยัดน้ำ

การรดน้ำต้นไม้
1.การรดน้ำต้นไม้ด้วยกระป๋องฝักบัวจะประหยัดกว่าวิธีการใช้สายยาง เพราะสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลได้โดยตรง
2.การรดน้ำตอนเที่ยงหรือบ่ายจะทำให้สุญเสียน้ำไปกับการระเหยถึง 50%
ข้อควรปฏิบัติในการรดน้ำต้นไม้
1. ลดพื้นที่ปลูกหญ้าแลปลูกพืชทลแล้งแทน
2. พรวนดินและเพิ่มสารอินทรีย์ในดินจะช่วยให้ดินสามารถเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น
3. หาเศษไม้ กิ่งไม่หรือใบไม้มาคลุมโคนต้นไม้จะทำให้ลดอัตราการะเหยของน้ำในดิน
4. หลีกเลี่ยงการให้น้ำพืชในเวลากลางวันและบ่ายโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน
5. รองรับน้ำฝนในภาชะเพื่อรดน้ำต้นไม้
6. ใช้ท่อยางที่มีอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยน้ำรดน้ำต้นไม้ จะช่วยลดการสูญเสียน้ำเมื่อเทียบกับการรดด้วยท่อยางโดยตรง
7. ใช้ชลประทานน้ำหยดแทนการใช้สปริงเกอร์ จะลดปริมาณน้ำได้ถึง 60%
8. จับเวลาการทำงานของสปริงเกอร์ ให้ได้ปริมาณน้ำ 3เซนติเมตร จะช่วยให้การให้น้ำแก่พืชมีประสิทธิภาพมากขึ้น