ข้อมูลพื้นฐาน | งานกิจการสภาฯ

ทำความเข้าใจกับสภาฯ

บทที่ 1 สภาเทศบาล  มาตราที่ 15 - 35
  มาตรา 15 สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามจำนวนดังต่อไปนี้ 
 (1) สภาเทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบสองคน 
 (2) สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสิบแปดคน 
 (3) สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คน 
 ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนตำแหน่ง ที่ว่าง ให้สภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ 
[ มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
  มาตรา 16 สมาชิกสภาเทศบาลให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปี ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ว่างลงเพราะเหตุอื่นนอก จากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทน ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของสมาชิกสภาเทศบาล จะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน 
 สมาชิกสภาเทศบาลผู้เข้ามาแทนตามวรรคหนึ่งให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของผู้ซึ่งตนแทน 
[ มาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542] 
  มาตรา 17 ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาเทศบาลต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเทศบาลว่า จะรักษา ไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งจะซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น 
  มาตรา 18 สมาชิกสภาเทศบาลย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนในเขตเทศบาลนั้น และต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม ความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ 
  มาตรา 18ทวิ สมาชิกสภาเทศบาลต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ เทศบาลเป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่เทศบาลหรือที่เทศบาลจะกระทำ 
[ มาตรา 18ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542] 
  มาตรา 19 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ 
 (1) ถึงคราวออกตามวาระ หรือมีการยุบสภาเทศบาล 
 (2) ตาย 
 (3) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด 
 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วย การเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล 
 (5) ขาดประชุมสภาเทศบาลสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร 
 (6) กระทำการอันต้องห้ามตาม มาตรา 18ทวิ 
 (7) สภาเทศบาลมีมติให้ออกจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อม เสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่เทศบาลหรือกระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาเทศบาล มติให้สมาชิกสภาเทศบาลออกจากตำแหน่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของ จำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 
 (8) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลได้ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับ การลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง 
 เมื่อมีกรณีสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (4) (5)หรือ (6) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว 
 ในกรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลงตาม (8) พร้อมกันทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาเทศบาล 
[ มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542] 
 
     มาตรา 20 สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล 
 ประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาลอยู่ในตำแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาล หรือมีการยุบสภาเทศบาล หรือถือว่ามีการยุบสภาเทศบาลตาม มาตรา 19 วรรคสาม 
[วรรคสองของ มาตรา 20 เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 20ทวิ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตาม มาตรา 20 วรรคสอง ประธานสภาเทศบาลและ รองประธาน สภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ 
 (1) พ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาล 
 (2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด 
[มาตรา 20ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 20ตรี ในกรณีที่ตำแหน่งประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตาม มาตรา 20ทวิ ให้สภาเทศบาลเลือกสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นแทน ตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง 
[มาตรา 20ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 21 ประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาเทศบาลให้เป็นไป ตามระเบียบข้อ บังคับการประชุมสภาเทศบาล 
 รองประธานสภาเทศบาล มีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาเทศบาลในเมื่อ ประธานสภาเทศบาล ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 
 มาตรา 22 ในเมื่อประธานและรองประธานสภาเทศบาลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกสภาเทศบาล เลือกตั้งกันเอง เป็นประธานเฉพาะในคราวประชุมนั้น 
 มาตรา 23 ให้กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลไว้ 
 มาตรา 24 ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัยหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาเทศบาลจะกำหนด แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ให้สภาเทศบาลกำหนด 
 การประชุมสภาเทศบาลครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในเก้าสิบวัน นับแต่การเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาลเสร็จแล้ว 
 สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวันแต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับ อนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด 
 มาตรา 25 โดยปกติให้ประธานสภาเทศบาลเป็นผู้เรียกประชุมสภาเทศบาลตามสมัยประชุม และเป็น ผู้เปิดหรือปิดประชุม 
 ในกรณีที่ยังไม่มีประธานสภาเทศบาล หรือประธานสภาเทศบาลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้ผู้ว่า ราชการจังหวัดเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม 
 มาตรา 26 นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งเทศบาล ประธาน สภาเทศบาลก็ดี หรือนายกเทศมนตรีก็ดี หรือสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งก็ดี อาจทำคำร้องยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เปิดประชุมวิสามัญให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ถ้าเห็น สมควรก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมวิสามัญได้ 
 สมัยประชุมวิสามัญให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด 
 มาตรา 27 การประชุมสภาเทศบาล ต้องมีสมาชิกสภาเทศบาลมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม 
[มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 28 การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็น อย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ 
 สมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนลงเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด 
 มาตรา 29 ห้ามมิให้สภาเทศบาลประชุมปรึกษาหารือในเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือเรื่องที่ฝ่าฝืน กฎหมาย หรือเรื่องการเมืองแห่งรัฐ 
 มาตรา 30 การประชุมของสภาเทศบาลย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่จะได้กำหนดไว้ในระเบียบ ข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาล 
 เมื่อคณะเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาเทศบาลรวมกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของ จำนวนสมาชิกที่มาประชุม ร้องขอให้ทำการประชุมลับ ก็ให้ประธานสภาเทศบาลดำเนินการประชุมลับ ได้โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุม 
 มาตรา 31 ในที่ประชุมสภาเทศบาล สมาชิกย่อมมีสิทธิตั้งกระทู้ถามคณะเทศมนตรี หรือเทศมนตรี ในข้อความใด ๆ อันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่คณะเทศมนตรี หรือเทศมนตรีย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้น ๆ ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือ ประโยชน์สำคัญของเทศบาล 
 มาตรา 32 สภาเทศบาลมีอำนาจเลือกสมาชิกสภาเทศบาลตั้งเป็นคณะกรรม การสามัญของสภาเทศบาล และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรม การวิสามัญของสภาเทศบาล เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเทศบาล แล้วรายงานต่อสภาเทศบาล 
 ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตามวรรคหนึ่ง นายกเทศมนตรีมีสิทธิ เสนอชื่อบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิก เพื่อให้สภาเทศบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการ วิสามัญได้ไม่เกิน หนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด 
 คณะกรรมการที่สภาเทศบาลตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่ง จะแต่งตั้งคณะอนุกรรม การเพื่อพิจารณาหรือ ปฏิบัติการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ 
[มาตรา 32 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 32ทวิ ในกรณีกิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย ของเทศบาลหรือประชาชน ในท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก เท่าที่มีอยู่หรือ คณะเทศมนตรีอาจเสนอต่อประธานสภาเทศบาลเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในท้องถิ่นได้ และประกาศให้ประชาชนทราบ 
 การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่าจะเห็น ชอบหรือไม่เห็นชอบกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคล ใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้ 
 บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ 
 การออกเสียงประชามติตามมาตรานี้ให้มีผลเป็นเพียงการให้คำปรึกษา แก่สภาเทศบาลหรือ คณะเทศมนตรีในเรื่องนั้น 
 หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งกำหนด 
[มาตรา 32ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543] 
 มาตรา 33 การประชุมคณะกรรมการตาม มาตรา 32 ต้องมีกรรมการ มาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่ง จำนวนของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม 
 ระเบียบการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้ระเบียบข้อบังคับ การประชุม สภาเทศบาลโดยอนุโลม 
 มาตรา 34 สมาชิกสภาเทศบาลไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สมาชิก ที่อยู่ในตำแหน่ง มีสิทธิ ที่จะรวมกันทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอในกรณีแห่งเทศบาลตำบล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีแห่งเทศบาล เมืองหรือเทศบาลนครว่า คณะเทศ มนตรีหรือเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ เมื่อนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้รับคำร้องนั้น ให้พิจารณาว่าจะสมควรเรียกประชุม สมาชิกสภาเทศบาลหรือไม่ถ้าเป็นการ สมควรก็ให้เรียกประชุม สมาชิกสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี เพื่อให้มีการอภิปรายเกี่ยวด้วยคำร้องนั้นว่า สมควรจะส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างใด ให้นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ปฏิบัติไปตามมตินั้น 
 การประชุมตามความในวรรคก่อนให้เป็นการประชุมลับโดยให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการ จังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นประธาน การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาใน การประชุมนี้ ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ 
 ระเบียบการประชุมนั้น ให้ใช้ระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาเทศบาลโดยอนุโลม แต่ต้อง มีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่ง จึงจะเป็นองค์ประชุม 
 มาตรา 35 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำร้องตามความในมาตราก่อน แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งให้ยกคำร้องนั้นเสีย หรือสั่งให้เทศมนตรีทั้งคณะหรือเทศมนตรี ผู้ใดออกจากตำแหน่งได้ เพื่อประโยชน์ในการนี้ จะสั่งให้มีการสอบสวนก่อนก็ได้