วิธีการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมมีอยู่หลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะมีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ ความสามารถในการป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วม การส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม และธรรมชาติ ตลอดจนค่าลงทุนและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการพิจารและศึกษารายละเอียดต่างๆ ดังกล่าวให้รอบคอบเสียก่อน
วิธีป้องกันมีดังต่อไปนี้
การก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบลำน้ำ
เป็นวิธีการป้องกันน้ำท่วมที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดเล็กซึ่งมีขนาดความสูงไม่มากนัก ให้มีแนวขนานกับลำน้ำและอยู่ห่างจากขอบตลิ่งเข้าไปเป็นระยะพอประมาณ เพื่อกั้นน้ำที่มีระดับสูงกว่าตลิ่งไม่ให้ไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆ ตามที่ต้องการการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบลำน้ำ จึงนับเป็นวิธีการป้องกันน้ำมิให้ไหลล้นตลิ่งออกไปท่วมพื้นที่ให้ได้รับความเสียหายโดยตรง เหมือนกับการเสริมสร้างขอบตลิ่งของลำน้ำในบริเวณนั้นให้มีระดับความสูงมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเพิ่มเนื้อที่หน้าตัดของลำน้ำให้มีขนาดใหญ่พอที่จะระบายน้ำไหลหลากจำนวนมาก ให้ไหลผ่านพื้นที่บริเวณนั้นไปโดยไม่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวให้ได้รับความเสียหายเช่นแต่ก่อน
ในการวางโครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำมีหลักเกณฑ์ทางวิชาการที่สมควรพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสม ดังนี้
๑. ความสูงของคันกั้นน้ำ คันกั้นน้ำที่สร้างจะต้องมีระดับหลังคันสูงพ้นระดับน้ำท่วมสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นตามรอบปีที่กำหนดในการออกแบบเสมอ สำหรับในกรณีที่มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบตามแนวสองฝั่งลำน้ำ ขนาดความสูงและระยะห่างของคันกั้นน้ำที่บริเวณสองฝั่งลำน้ำจะต้องมีการพิจารณาร่วมกัน ให้มีความเหมาะสมในด้านต่างๆ กล่าวคือ ในกรณีก่อสร้างคันกั้นน้ำเลียบไปตามแนวสองฝั่งลำน้ำ คันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงไม่มาก จะต้องสร้างให้มีแนวที่ห่างจากตัวตลิ่งของลำน้ำเข้าไปมากๆ โดยให้มีพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำเป็นบริเวณกว้างมากกว่าการก่อสร้างคันกั้นน้ำที่ มีขนาดความสูงมากซึ่งสร้างอยู่ตามแนวใกล้ขอบตลิ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและค่าดูแลรักษา คันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงมากย่อมจะเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรวมทั้งค่าดูแลรักษามากกว่าคันกั้นน้ำที่มีขนาดความสูงไม่มากนักดังนั้นในการวางโครงการจึงต้องมีการพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจศาสตร์ร่วมกับทางด้านวิศวกรรมเพื่อเปรียบเทียบถึงค่าลงทุนในการก่อสร้าง กับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการป้องกันพื้นที่ขอบตลิ่งในกรณีก่อสร้างคันกั้นน้ำซึ่งมีขนาดความสูงแตกต่างกันด้วย เพื่อพิจารณากำหนดขนาดความสูงและแนวคันกั้นน้ำได้อย่างเหมาะสม
๒. ขนาดของคันกั้นน้ำ คันกั้นน้ำส่วนใหญ่จะก่อสร้างด้วยดินถมบดอัดแน่น โดย มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับเขื่อนดิน แต่คันกั้นน้ำจะทำหน้าที่กักกั้นน้ำอยู่เป็นครั้งคราว จึงมีความแตกต่างไปจากเขื่อนดินที่ต้องกักกั้นน้ำไว้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ คันกั้นน้ำจึงมีลักษณะคล้ายกับคันดินถนนทั่วไปที่ทำหน้าที่กักกั้นน้ำไว้ด้วยเป็นครั้งคราวนั่นเอง ในการออกแบบเพื่อกำหนดขนาดและรูปร่างของคันกั้นน้ำ มีหลักเกณฑ์โดยทั่วไปว่าจะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของตัวคันกั้นน้ำเพื่อให้มีสภาพคงทนใช้งานได้นานปี ตัวคันกั้นน้ำจะต้องมีขนาดและความเอียงลาดของคันดินทั้งสองด้านที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงในการทรงตัวอยู่ได้เสมอ โดยไม่เลื่อนทลายทั้งในช่วงเวลาที่ทำการกักกั้นน้ำและในขณะที่น้ำมีระดับลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ขนาดของคันกั้นน้ำที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอนั้น โดยทั่วไปควรมีความลาดเทในอัตราส่วน ตั้ง:ราบ = ๑:๓ สำหรับลาดคันด้านที่กั้นน้ำ และตั้ง:ราบ = ๑:๒.๕ สำหรับลาดคันอีกด้านหนึ่ง ส่วนความกว้างของหลัง คันกั้นน้ำในกรณีให้รถยนต์วิ่งได้ควรมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า ๔.๐๐ เมตร แต่สามารถลดขนาดความกว้างให้เหลือเพียง ๒.๕ เมตร ได้ เมื่อไม่ต้องการใช้หลังคันเป็นทางรถวิ่ง ๓. ระบบระบายน้ำภายในพื้นที่หลังคันกั้นน้ำ เนื่องด้วยคันกั้นน้ำที่ก่อสร้างมักจะตัดผ่านร่องน้ำและทางน้ำต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำหรือประตูระบายน้ำเพื่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้สะดวก พร้อมกับติดตั้งบานประตูบังคับน้ำไว้ทุกแห่ง เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าไปท่วมพื้นที่ด้านในอีกด้วย
การเกิดน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่ม
1)ต้องวางผังเมืองให้เหมาะสม รักษาระบบระบายน้ำตามธรรมชาติให้คงไว้เพื่อใช้ระบายน้ำจากพื้นที่ แต่หากมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ ขวางทางน้ำไหลหรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ จะต้องก่อสร้างระบบระบายน้ำทดแทนส่วนที่สูญไป
2). การก่อสร้างถนนจะต้องวางระบบการระบายน้ำ เช่น ท่อลอด สะพาน ที่เหมาะสมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนและขนาด
3). ในพื้นที่ที่มีการทรุดต้องไม่สูบน้ำใต้ดินมาใช้โดยปราศจากการควบคุม ต้องมีการป้องกันการกัดเซาะชะล้างหน้าดินออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้หญ้าแฝก การปลูกพืชคลุมดินเป็นต้น
การเกิดน้ำป่าบริเวณป่าเขาที่มีความลาดชันสูง
1). นอกจากไม่ตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ต้องเร่งปลูกต้นไม้ปลูกป่าทดแทนส่วนที่เสียหายถูกทำลายไป 2). การสร้างระบบป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดินลาดเชิงเขา
3).สร้างแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ตั้งแต่ฝายแม้ว แหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำให้เก็บกักเอาไว้ ไม่ปล่อยลงมาอย่างทันทีทันใดจนท่วมพื้นที่ตอนล่าง หรือไหลทิ้งออกจากลุ่มน้ำและออกไปสู่ทะเล นอกจากช่วยป้องกันภัยน้ำท่วมแล้วยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ด้วย
น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำ
1).การที่มีฝนตกหนักมากจนเกินความสามารถที่ลำน้ำจะรองรับไว้ได้เป็นเหตุที่ป้องกันได้ถ้ามีการศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำต่างๆ ดีพอ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำ ปรับปรุงขุดลอกลำน้ำ ให้มีความเหมาะสมที่จะรองรับปริมาณฝนสูงสุดที่จะเกิดขึ้นได้ 2). การตรวจสอบเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางในลำน้ำทั้งช่วงก่อนฤดูน้ำหลาก และช่วงที่มีน้ำหลากแล้ว 3). การสร้างระบบควบคุมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างฝายทดน้ำในลำน้ำอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยได้ถ้าออกแบบไม่เหมาะสม 4).มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ให้ระบบควบคุมอันได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำฯ ให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยไม่เป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยเสียเอง
น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุม
1). ต้องมีการตรวจสอบสภาพอาคารของระบบควบคุมอย่างเป็นระบบ 2). ต้องมีการดูแลรักษา ซ่อมแซมและปรับปรุงระบบควบคุมให้มีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความปลอดภัย 3). ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี วางแผนการเก็บกักน้ำ และการพร่องน้ำระบายน้ำสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่ควรจะเกิด
น้ำทะเลหนุน
1). ต้องมีระบบควบคุมน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ประตูระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี 2). การก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อรองรับน้ำที่ระบายจากลุ่มน้ำตอนบนในช่วงน้ำทะเลหนุนไว้ก่อนที่จะระบายออกสู่ทะเล (แก้มลิง)
การอนุรักษ์ป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร
ควบคุมป่าไม่ให้ถูกทำลาย การปลูกป่าใหม่ การปลูกสร้างสวนป่า จัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และคัดเลือกพันธุ์พืช เช่น ปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เป็นต้น
สร้างเขื่อน(Dams) คือ สิ่งก่อสร้างที่กั้นแม่น้ำ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำจากที่สูงมายังที่ต่ำ ให้น้ำไหลช้าลงจะได้ไม่เกิดอุทกภัยในที่ต่ำ ทำฝาย ทำนบคันดินฯ เป็นต้น
สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในเขตใกล้แม่น้ำ (Detention Storage) คือ การผันทางน้ำจากแม่น้ำให้ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำและค่อยๆ ระบายออกเป็นระยะๆ จะทำให้ที่ราบสองข้างฝั่งไม่เกิดน้ำ
การผันทางน้ำให้ไหลจากทางน้ำใหญ่ ไปเข้าร่องน้ำทางน้ำแยกหรือคลองส่งน้ำ เพื่อแบ่งน้ำจากทางน้ำใหญ่ หรือผันน้ำจากทางน้ำใหญ่ ที่จะทำให้เมืองใหญ่เกิดน้ำท่วมซึ่งจะเสียหายมาก ไปเข้าท่วมทุ่งนาเพื่อพักน้ำชั่วคร สร้างคันดินหรือทำนบดิน หรือกำแพงกั้นน้ำ เป็นคันดินที่สูงกว่าระดับน้ำเป็นแนวขนานไปตามความยาวของแม่น้ำ ควรมีช่องระบายน้ำเป็นตอนๆ การก่อสร้างอาจทำได้หลายรูปแบบ แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการใช้ขยายทางน้ำที่ไหลอยู่ให้กว้างออก คือ การปรับปรุงทางน้ำไหลให้กว้างออก ทำให้น้ำปริมาณมากไหลได้เร็วขึ้น น้ำจะไม่เอ่อล้นตลิ่ง โดย การเคลื่อนย้ายวัตถุที่มาปิดกั้นทางน้ำไหลออกไป เช่น เศษไม้ กอสวะ สิ่งก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคูคลองไม่ให้กีดขวางทางน้ำเพราะจะช่วยให้การไหลของน้ำรวดเร็วขึ้น การขุดลอกคูคลอง ร่องน้ำ เพื่อเพิ่มความจุของน้ำในฤดูน้ำหลาก ฉะนั้น ในการเตรียมการเพื่อต่อสู้กับอุทกภัยให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ จึงต้องวางแผนและวิธีการที่ได้เตรียมและซ้อมไว้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่สุดก่อนอื่นใดคือการออกประกาศคำเตือนอุทกภัยให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ให้มีระยะเวลาพอที่จะเตรียมรับสถานการณ์ได้ทัน ประกาศนี้ควรจะให้ถึงประชาชนโดยทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในเขตอันตราย เช่น ริมฝั่งทะเล ริมแม่น้ำ และประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในที่ห่างไกลจากชุมชนและเส้นทางคมนาคม |
ข้อมูลพื้นฐาน | การจัดการองค์ความรู้ KM หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แหล่งความรู้
วิธีป้องกันและบรรเทาอุทกภัย