ข้อมูลพื้นฐาน | การจัดการองค์ความรู้ KM หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แหล่งความรู้

ข้อควรรู้กับยาเสพติด

ยาเสพติดและการป้องกัน

          "ยาเสพย์ติด  เป็นภัยต่อชีวิต  เป็นพิษต่อสังคม"  คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย  เนื่องจากทุกคนต่างทราบถึงพิษร้ายของยาเสพย์ติดเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันเนื่องมาแต่สาเหตุนี้นับเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศใด  ดังนั้นจึงช่วยกันสอดส่องดูแลบุคคลในครอบครัว  อย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม   
             "ยาเสพย์ติด"  หมายถึง  สารเคมีหรือสารใดก็ตามที่เมื่อบุคคลเสพย์หรือรับเข้าทางร่างกายไม่ว่าจะโดยการฉีด  สูบ  ดื่ม  หรือวิธีอื่นๆติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  เมื่อเสพไปได้สักระยะหนึ่งจะทำให้ผู้เสพแสดงออกมาตามลักษณะเหล่านี้  
        -  ผู้เสพมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเสพยาชนิดนั้นต่อเนื่องไป  และต้องแสวงหามาเสพให้ได้ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม 
        -  ผู้เสพจะเพิ่มปริมาณยาที่เคยใช้มากขึ้นทุกระยะ  
        -  ผู้เสพจะมีความปรารถนาอยากเสพยาชนิดนั้นอย่างรุ่นแรงจนระงับไม่ได้คือติดทั้งร่างกายและจิตใจ   

                       ลักษณะที่สังเกตได้ของผู้ติดยา  
        1. ตาโรย ขาดความกระปรี้กระเปร่า น้ำมูกน้ำตาไหล ริมฝีปากเขียวคล้ำแห้งและแตก (เสพโดยการสูบ) 
        2. เหงื่อออกมาก กลิ่นตัวแรง พูดจาไม่สัมพันธ์กับความจริง
        3. มีร่องรอยของการเสพยาโดยการฉีดที่บริเวณแขนตามแนวเส้นโลหิต  
        4. ท้องแขนมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการกรีดด้วยของมีคมตามขวาง(ติดเหล้าแห้ง ยากล่อมประสาท ยาระงับประสาท)  
        5. ใส่แว่นตากรองแสงเข้มเป็นประจำเพราะม่านตาขยายและเพื่อปกปิดนัยน์ตาสีแดงก่ำ  6. มักสวมเสื้อแขนยาวปิดรอยฉีดยา   พบเห็นบุคคลที่มีลักษณะเข้าข่าย 
        6. ประการข้างต้น  ก็ไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานของท่านร่วมเสวนาด้วย เพราะคนเหล่านี้อาจเป็นพาหะนำยาเสพย์ติดเข้ามาสู่ครอบครัวท่านก็เป็นได้     

                     สาเหตุของการติดยาเสพติด   
       1.  ความอยากรู้อยากลองด้วยความคึกคะนอง 
       2.  เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน  
       3.  มีความเชื่อในทางที่ผิด เช่น เชื่อว่ายาเสพย์ติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ หรือช่วยให้ทำงานได้มาก 
       4.  ขาดความระมัดระวังในการใช้ยา เพราะคุณสมบัติยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดการเสพย์ติดโดยไม่รู้ตัว หากใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร 
       5.  สภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัยมีการค้ายาเสพย์ติด หรือมีผู้ติดยาเสพย์ติด 
       6.  ถูกหลอกให้ใช้ยาเสพย์ติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 
       7.  เพื่อหนีปัญหา  เมื่อมีปัญหาและไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับตนเองได้     

                    รู้จักยาบ้า ยาอี  ยาเลิฟ 
         "ทลายแหล่งยาบ้า"..."บุกจับปาร์ตี้ยาอี"  จนมาถึงคำว่า  "ยาเลิฟ"  ปรากฏทางสื่อมวลชนแทบทุกวัน  คงสร้างความสงสัยให้ผู้อ่านมากทีเดียวว่าแท้จริงแล้ว ยาบ้า ยาอี ยาเลิฟ คืออะไรกันแน่   
           ยาบ้า  เดิมผู้เสพเรียกว่า  "ยาม้า"  แต่ด้วยฤทธิ์ของยาที่ทำให้ผู้เสพคลุ้มคลั่งคล้ายคนบ้า จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ยาบ้า" ในยาบ้ามีส่วนผสมของสารเคมีที่สำคัญคือ  เมทแอมเฟตามีน  (Methamphetamine)    มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาททำให้ผู้เสพประสาทตึงเครียด ตกใจง่าย หงุดหงิด สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับแต่เมื่อหมดฤทธิ์ผู้เสพจะรู้สึกอ่อนเพลียมาก เพราะสมองและร่างกายขาดการพักผ่อน ประสาทจะหล้า ทำให้ตัดสินใจช้าและผิดพลาดจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้  การเสพยาบ้าเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม มีอาการประสาทหลอน  หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง  อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ ดั่งที่เป็นข่าวเสมอ  
         ยาอี  ยาเลิฟ  เอ็คซ์ตาซี  (Ecstasy)  เป็นยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน  จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี  นอกจากนี้ชื่อ ยาบ้า ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซีแล้ว ยังมีชื่อในกลุ่มผู้เสพอีกหลายชื่อ เช่น Adam  Batman  Enjoy  Essence  ฯลฯ ส่วนยาเลิฟเป็นชื่อเรียกตามอาการของผู้เสพ เพราะเมื่อเสพยาชนิดนี้แล้วไม่สามรถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้  ทำให้เกิดการมั่วเพศ    
         ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี    เริ่มแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยโดยชาวต่างชาติและชาวไทยที่ไปศึกษาในต่างประเทศนำเข้ามาเสพในกลุ่มตน  จากนั้นได้แพร่กระจายไปสู่กลุ่มวัยรุ่นนักเที่ยวที่ชอบการเต้นรำ จนเกิดปาร์ตี้ยาอีตามข่าว  
           ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระยะสั้นๆหลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง  ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว การมองภาพและการรับฟังเสียงต่างๆผิดไปจากความเป็นจริง  ผู้เสพจะรู้สึกคล้อยไปตามเสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงที่คนทั่วไปฟังแล้วแสบแก้วหูและรำคาญ  แต่ผู้เสพ ยาบ้า ยาอี เอ็คซ์ตาซี จะถูกกระตุ้นด้วยฤทธิ์ยาทำให้เต้นรำไปตามจังหวะเพลงอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ซึ่งการเต้นรำอย่างหักโหมนี้เองทำให้ร่างกายเสียเหงื่ออย่างมาก เป็นเหตุให้ช็อคและเสียชีวิตได้    

                 มา รู้จัก  " สารระเหย "   ปัจจุบันผู้ติดยาเสพย์ติดหันไปเสพย์ยาตัวอื่นที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายกว่าผงขาว  ซึ่งก็คือสารระเหยชนิดต่างๆ เช่น ทินเนอร์ผสมสี  น้ำมันเบนซิน น้ำมันไฟแช็ก น้ำมันก๊าด  น้ำมันแล็คเกอร์ กาวชนิดต่างๆ น้ำมันชักเงา  ยาทาเล็บ ตลอดจนสเปรย์ต่างๆโดยหารู้ไม่ว่าสารเสพติดประเภทนี้มีฤทธิ์ร้ายแรงกว่าเฮโรอีนหลายเท่านัก
                เพราะเฮโรอีนทำให้สุขภาพทั่วไปทรุดโทรมก็จริง  แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความพิการถาวรไว้ให้แก่อวัยวะใด ๆ ในร่างกาย  ซึ่งเมื่อเลิกเสพ  เพียงพักฟื้นไม่นานสุขภาพก็จะแข็งแรงกลับสู่สภาพปกติได้  แต่สารระเหยเหล่านี้   เมื่อเสพจนติดเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเป็นโรคหรือมีความพิการถาวรและไม่สามารถแก้ไขได้  เช่น  เป็นมะเร็งในเม็ดเลือด  สมองพิการ  ตับพิการ   พิการทางพันธุกรรม

                พิษภัยของสารระเหย
           พิษภัยของสารระเหยต่อร่างกาย  หากเสพไปนาน ๆ  จะเกิดอาการได้  2 แบบ คือ
     -  พิษระยะเฉียบพลัน
     -  พิษระยะเรื้อรัง
            เมื่อสูดดมสารระเหยเข้าไปในกระเพาะอาหารก็จะสูดดมซึมเข้าไปในหลอดเลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะต่างๆ  ของร่างกายโดยจะไปออกฤทธิ์โดยตรงด้วยการไปกดสมองส่วนกลาง  ดังนั้นพอสูดดมไปไม่กี่นาทีจะเกิดอาการเมาที่คล้ายคนเมาเหล้า คือ  เวียนหัว  ตาพร่า  เวลาดูอะไรจะเพ่งจะจ้องเหมือนตาขวาง   ลิ้นไก่สั้น  เดินโซเซ  ง่วงซึม  จิตใจครึกครื้น  เห่อเหิม   คึกคะนองซึ่งอาจทำให้ก่ออาชญากรรมได้   สติปัญญาทึบ  มีหูแว่ว  เกดประสาทหลอน   เกิดความคิดแบบหลงผิด   หากสูดดมต่อไปนาน ๆ จะทำให้อาการโคมาถึงตายได้  ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากการสูดยาเกินขนาดทำให้ยาไปกดที่ศูนย์ควบคุมการหายใจและหยุดหายใจในที่สุด   นอกจากนี้ยายังไปออกฤทธิ์ต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วและไม่เป็นจังหวะ
            สำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ  ที่มักจะเสพสารระเหยเหล่านี้   ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ  เยาวชนของชาติ  ซึ่งกำลังศึกษาในระดับมัธยมต้นและปลาย   โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและในจังหวัดภาคเหนือ   ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มว่ามีการเสพติดยาชนิดนี้อย่างแพร่หลาย   และเด็กเหล่านี้จะมีอายุระหว่าง 8-10 ปี  โดยเสพกันเป็นกลุ่ม  ในวัด  ในห้องที่ลับตาคน  โดยใช้สำลี  ผ้าเช็ดหน้าหรือเสื้อยืดชุบทินเนอร์จนชุ่มแล้วสูดดมเข้าปอดหมุนเวียนต่อไปจนเมามาย   บางคนอาจฉีดสเปรย์เข้าตู้เสื้อผ้าหรือตู้ลับ  แล้วยื่นหน้าเข้าสูดดม
           จะเห็นได้ว่ายาเสพติดพวกสารระเหยนี้มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ของใช้แทบทุกครัวเรือน  หรือหาซื้อได้ทุกแห่ง  มีราคาถูก  และทุกชนิดมีกลิ่นหอมที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยชอบกลิ่น  จึงทำให้เสพย์ติดได้ง่ายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนทั้งชายและหญิง  

            ตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย  พ.ศ.  2533  ได้กำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้นำสารระเหยมาใช้ในทางที่ผิดไว้หลายประการ   และกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องโทษ  ดังนี้
        1.  กำหนดให้ผู้ผลิต  ผู้นำเข้า  หรือผู้ขายสารระเหย  ต้องจัดให้มีภาพหรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสารระเหย  เพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  20,000  บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        2.  ห้ามไม่ให้ผู้ใดขายสารระเหยแก่ผู้ที่มีอายุไม่เกิน  17  ปี  เว้นแต่เป็นการขายโดยสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน  ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน  1  ปี  หรือปรับไม่เกิน  10,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
       3.  ห้ามไม่ให้ผู้ใดขาย  จัดหา  หรือให้สารระเหยแก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย  ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
        4.  ห้ามไม่ให้ผู้ใดจูงใจ  ชักนำ  ยุยงส่งเสริม  หรือใช้อุบายหลอกลวงให้บุคคลอื่นใช้สารระเหย   บำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ  ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  20,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
        5.  ห้ามไม่ให้ผู้ใดใช้สารระเหยบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ  ไม่ว่าด้วยวิธีสูดดมหรือวิธีอื่นใด  ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  20,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
        พึงระลึกไว้เสมอว่าการเสพสารระเหยนอกจากจะเป็นโทษต่อร่างกายแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

           พ   บทลงโทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษชนิดอื่น
                เฮโรอีน
             -  ผู้จำหน่ายหรือมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง  น้ำหนักไม่เกิน  100  กรัม  จำคุกตั้งแต่  5  ปีถึงตลอดชีวิต  และปรับตั้งแต่  50,000 - 5000,000  บาท
             -  เกิน  100  กรัม  ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
             -  มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโทษจำคุกตั้งแต่  1 - 10  ปี และปรับตั้งแต่  10,000 - 100,000 บาท
             -  ผู้เสพเฮโรอีนมีโทษจำคุกตั้งแต่  6  เดือน - 10 ปี  และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000  บาท

                 กัญชา
             -  มีกัญชาไว้ในครอบครอง  เพื่อจำหน่ายหรือผลิต  มีโทษจำคุกตั้งแต่  2 - 15 ปี  และปรับตั้งแต่ 20,000 - 150,000  บาท
             -  ผู้ใดเสพกัญชา  จำคุกไม่เกิน  1 ปี  และปรับไม่เกิน  10,000  บาท
             -  มีกัญชาไว้ในครอบครอง  โทษจำคุกไม่เกิน  5  ปี  และปรับไม่เกิน  50,000  บาท

                 ยาบ้า
              -  ผู้ผลิต  นำเข้าหรือส่งออกยาบ้าเพื่อจำหน่าย  มีโทษประหารชีวิต
              -  มียาบ้าตั้งแต่ 20  กรัมขึ้นไป  ( สารบริสุทธิ์ ) ถือเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายมีโทษประหารชีวิต
              -  จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่เกิน  100  กรัม (สารบริสุทธิ์) โทษจำคุก  5 ปีถึงตลอดชีวิต  และปรับ  50,000  บาท
              -  เกิน  100  กรัม  โทษจำคุกตลอดชีวิต  หรือประหารชีวิต
              -  ครอบครองไม่เกิน 20 กรัม  โทษจำคุก 1 - 10 ปี  ปรับ  10,000 - 100,000  บาท
              -  ผู้เสพโทษจำคุก  6  เดือน - 10 ปี  ปรับ  5,000 - 100,000  บาท

          พ  การป้องกันการติดยาเสพติด
        1.  ป้องกันตนเอง  ไม่ใช้ยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์และอย่าทดลองเสพยาทุกชนิดโดยเด็ดขาด
        2.  ป้องกันครอบครัว  ควรสอดส่องดูแลเด็กและบุคคลในครอบครัว  อย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  ต้องคอยอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษและภัยของยาเสพติดที่สำคัญ  ควรให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหลาน  เพราะความรักของครอบครัวจะเป็นปราการสำคัญต้านภัยยาเสพติดให้  หากมีผู้เสพยาในครอบครัวควรจัดการให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลให้หายเด็ดขาด  อย่าแสดงความรังเกียจหรือดูหมิ่นควรให้กำลังใจให้ความรักต่อเขา  และการรักษาแต่เริ่มแรกที่ติดยามีโอกาสหายได้เร็วกว่าปล่อยไว้นาน ๆ 
        3.  ป้องกันเพื่อนบ้าน  ช่วยชี้แจงเพื่อนบ้านให้เข้าใจถึงโทษและภัยของยาเสพติด  หากพบว่าเพื่อนบ้านติดยาเสพติด  อย่าแสดงความรังเกียจ  ควรช่วยแนะนำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
        4. ป้องกันโดยให้ความร่วมมือกับทางราชการ  เมื่อทราบว่าสถานที่แห่งใดมียาเสพติดแพร่ระบาด  ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่งทุกท้องที่ทราบ  หรือที่ศูนย์ปราบปรามยาเสพติดให้โทษ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โทร. 252-7962, 252-5932 หรือ  "1688"  และที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  (ป.ป.ส.) สำนักนายกรัฐมนตรี  โทร.2459350-9

          พ  การปฐมพยาบาลผู้ติดยาเสพติด
           หากพบเห็นบุคคลใดมีอาการลงแดงอันเนื่องมาจากการติดยาเสพติด  ขอให้ปฏิบัติตามดังต่อไปนี้
         1.  อย่าตื่นตระหนก  พยายามสงบสติอารมณ์ตนเอง
         2.  พยายามให้ผู้ติดยาอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างเพียงพอ
         3.  ให้ผู้ติดยานอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้อาเจียนปิดกั้นทางเดินหายใจ  พร้อมทั้งปลดเสื้อผ้าออกให้สบายที่สุด
         4.  อย่าปล่อยให้ผู้ตดยาอยู่เพียงลำพัง
         5.  เรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด
         6.  เก็บตัวอย่างยาเสพย์ติดไว้ให้แพทย์วินิจฉัย

            
พ   สถานทีให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน และแนะนำการบำบัดรักษาชั้นต้น
         1.  สำนักงานป้องกันการติดยา ( กระทรวงสาธารณสุข ) โทร. 282-4180-5
         2.  สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยศูนย์อาสาสมัครยาเสพย์ติดตึกมหิดล โทร. 245-5522
         3.  ศูนย์สุขวิทยาจิต โทร. 281-5241
         4.  สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย โทร. 245-2733
         5.  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด ( ป.ป.ส.) โทร. 245-9340-9